สำนักงาน สกสค.จังหวัดหนองบัวลำภู
จุดกำเนิดหน่วยงานหลัก
พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 มาตรา 76 บัญญัติให้มี“สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา” มีฐานะเป็นนิติบุคคลในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ เรียกชื่อโดยย่อว่า “สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.” มีภารกิจหลักเกี่ยวกับ การส่งเสริม (1) สวัสดิการ (2) สวัสดิภาพ (3) สิทธิประโยชน์เกื้อกูลอื่น (4) ความมั่นคง (5) ผดุงเกียรติและ (6) การวิจัยเพื่อพัฒนางานตามภารกิจให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษาโดยมีกลุ่มเป้าหมายบริการทั้งบุคลากรในประจำการและนอกประจำการจำนวนกว่า 1,000,000 คน
ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 128/1ถนนนครราชสีมา เขตดุสิตจังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยอยู่ในรั้วเดียวกันกับกระทรวงศึกษาธิการ
ประวัติสำนักงาน สกสค.จังหวัดหนองบัวลำภู
สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาจังหวัดหนองบัวลำภูหรือเรียกโดยย่อว่า “สำนักงาน สกสค. จังหวัดหนองบัวลำภู” จัดตั้งขึ้นตามข้อบังคับคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ว่าด้วยการบริหารสำนักงาน พ.ศ.2547 ณ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดหนองบัวลำภู ในปี พ.ศ.2547 ได้ย้ายที่ทำงานมาที่ อาคารหอประชุมอนาลโย ชั้น 2 ศูนย์ราชการจังหวัดหนองบัวลำภู อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อปี พ.ศ.2554 ได้งบประมาณ ในการจัดสร้างอาคารสำนักงาน สกสค. จังหวัดหนองบัวลำภู โดยธนารักษ์เขตพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู เห็นชอบใช้พื้นที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ นภ 581 ตำบลลำภู อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู (แปลงศูนย์ราชการจังหวัดหนองบัวลำภู) มติที่ประชุมครั้งที่ 2/2553
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2553 ในเนื้อที่ 1 ไร่ 1งาน 58 ตารางวา ในการก่อสร้างอาคารสำนักงานสกสค.จังหวัดหนองบัวลำภู และได้ย้ายที่ทำงานมายังอาคารสำนักงาน สกสค.จังหวัดหนองบัวลำภูแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 จนถึงปัจจุบัน
ภารกิจ
สำนักงาน สกสค.จังหวัดหนองบัวลำภู มีภารกิจและอำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานกับกลุ่มเป้าหมายการให้บริการในจังหวัด ดังนี้
- งานบริหารทั่วไป
- งานบริหารงานบุคคล
- งานนโยบาย แผนงาน และงบประมาณ
- งานสวัสดิการ และสวัสดิภาพ
- งานการเงิน การบัญชีและการพัสดุ
- ปฏิบัติงานร่วมหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือตามที่ได้รับมอบหมาย
ทั้งนี้ ได้จัดระบบบริหารงานในสำนักงานจังหวัด เป็น 2 งาน ดังนี้
1) งานอำนวยการ
2) งานสวัสดิการ สวัสดิภาพและสิทธิประโยชน์เกื้อกูล
ทำเนียบผู้อำนวยการสำนักงาน สกสค. จังหวัดหนองบัวลำภู
- นายลิขิต พิบูลย์ดิษฐ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2547- พ.ศ.2555
- นายพรมมา แสงมุกดา ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ปี พ.ศ.2555- สิงหาคม พ.ศ.2558
- นายสุรชาติ จำรูญศิริ ผู้อำนวยการ สำนักงาน สกสค.จังหวัดเลย รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงาน สกสค.จังหวัดหนองบัวลำภู ตั้งแต่ วันที่ 29 สิงหาคม 2558 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2559
- ดร.สุเทพ บุญเติม ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 6 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 ถึงปัจจุบัน
วิสัยทัศน์ ปี 2560–2563
“การบริหารโปร่งใส เสริมสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพการบริการ สานต่องานพัฒนาชีวิตครู เชิดชูและผดุงเกียรติครูและบุคลากรทางการศึกษาต่อเนื่อง สนับสนุนเรื่องวิจัยสวัสดิการ”
พันธกิจ
- การพัฒนาการบริการและการบริหารโปร่งใส
- 2. การเสริมสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน
- 3. สานต่องานพัฒนาชีวิตครู
- 4. เชิดชูและผดุงเกียรติครูและบุคลากรทางการศึกษา
- สนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับสวัสดิการครู
เป้าประสงค์
- เพื่อให้ สำนักงาน สกสค.จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นองค์กรที่พัฒนาการบริการให้สมบูรณ์แบบอย่างไม่หยุดยั้ง
- เพื่อให้บุคลากรมีขวัญกำลังใจและมีพลังความทุ่มเทในการทำงานอย่างสม่ำเสมอและมีความสุขกับการทำงาน
- เพื่อสานต่องานพัฒนาชีวิตที่มีอยู่และพัฒนากลุ่มทุกกลุ่มให้มีความมั่นคงอย่างยั่งยืน
- เพื่อเชิดชูและผดุงเกียรติครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นประจักษ์ต่อสารธารณะ
- เพื่อสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับสวัสดิการครูให้สามารถนำมาใช้ในการปฏิบัติงานและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องได้จริง
พันธกิจ 1 การพัฒนาการบริการและการบริหารโปร่งใส
สนองยุทธศาสตร์ที่ 1 ปฏิรูปองค์กรสู่ความโปร่งใส
มาตรการ
- จัดรูปแบบกรบริการทั้งในและนอกสถานที่และส่งเสริมสวัสดิการ สวัสดิภาพ ตามลักษณะและความต้องการอย่างทั่วถึง
- จัดและสนับสนุนการบริการด้านสุขภาพให้ทั่วถึงและครอบคลุมพื้นที่จังหวัด
- ยกระดับการบริการด้านสวัสดิภาพ ช.พ.ค. และ ช.พ.ส. รวมทั้งสิทธิประโยชน์เกื้อกูลอื่นแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา
กิจกรรม
- ปรับปรุงพื้นที่ให้บริการ
- จัดตั้งเครื่องมือช่วยสืบค้นข้อมูลออนไลน์
- ประสานเชื่อมโยงกับหน่วยงานต้นสังกัดของสมาชิกในการใช้ระบบหนังสือราชการอิเลคทรอนิคส์ (e-office)ร่วมกัน
- ประชาสัมพันธ์งานของสำนักงานจังหวัดผ่านสื่อเวปไซต์
- จัดระบบบริการ One-stop service
- จัดโครงการบริการสมาชิกแบบไร้ขีดจำกัดทุกเวลาทุกสถานที่(Unlimited service anytime anywhere)
พันธกิจ 2 การเสริมสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน
สนองยุทธศาสตร์ที่ 1 ปฏิรูปองค์กรสู่ความโปร่งใส
มาตรการ
- จัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมในการทำงานให้น่าอยู่และน่าทำงาน
- จัดแบ่งงานให้ชัดเจน โดยกำหนดหน้าที่ให้รู้ชัดว่าพนักงานคนใดได้รับมอบหมายให้ทำงานอะไร
- สร้างความพึงพอใจในงาน ด้วยการจัดงานให้ตรงตามความรู้ความสามารถ และความสนใจ
- ให้ความยกย่องชมเชย และบำเหน็จความดีความชอบอย่างเหมาะสม
- ให้โอกาสแก่พนักงานซึ่งมีผลการปฏิบัติงานดีและมีศักยภาพสูง
- ให้ความเอาใจใส่ดูแลความเป็นอยู่และทุกข์สุขในการทำงานของพนักงานทุกคนอย่างทั่วถึง
- ให้โอกาสในการแสดงความคิดเห็น และมีอิสระในการคิดสร้างสรรค์ ปรับปรุงงาน ด้วยการจัดให้มีระบบข้อเสนอแนะและพัฒนาให้เป็นระบบไคเซ็น (Kaizen) ที่คิดปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
- ให้โอกาสในการร้องทุกข์ โดยมีระบบการร้องทุกข์ตามขั้นตอนและช่วยเหลือแก้ปัญหาให้ตามความเหมาะสม
กิจกรรม
- 1. จัดพื้นที่บริการและโต๊ะทำงานใหม่ มีพื้นที่เหมาะสมสะดวกสบาย
- ทักทายยิ้มแย้มแจ่มใสแก่กันและกัน
- 3. พัฒนาความรู้และจัดแบ่งงานตามตำแหน่งหน้าที่และสามารถทำงานแทนกันได้ทุกตำแหน่ง หากไม่สามารถมาปฏิบัติงานได้
- 4. รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน
- จัดสังสรรค์กันในวาระสำคัญเช่น วันคล้ายวันเกิด วันปีใหม่ วันสงกรานต์ ฯลฯ
- จัดประชุมทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ กิจกรรมอวยพรและกิจกรรมเยี่ยมยามถามข่าวตามโอกาสอันควร
- จัดช่องทางในการร้องทุกข์และเสนอความคิดเห็นในหลายช่องทางอย่างเหมาะสม
พันธกิจ 3 สานต่องานพัฒนาชีวิตครู
สนองยุทธศาสตร์ที่ 2 เสริมสร้างความมั่นคงและพัฒนาคุณภาพชีวิต
มาตรการ
- พัฒนารูปแบบการให้คำปรึกษาและให้ความรู้ด้านต่างๆ แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา
- พัฒนาระบบการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา
- ปลูกฝังค่านิยมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น
- สนับสนุนกิจกรรมในการลดภาระหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษา
กิจกรรม
- จัดคลินิกให้คำแนะนำปรึกษาการเสริมสร้างความมั่นคง กฎหมายและการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่หลากหลายช่องทาง
- สร้างระบบการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่อย่างยั่งยืน
- จัดกลุ่มพัฒนาชีวิตครูที่เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
พันธกิจ 4 เชิดชูและผดุงเกียรติครูและบุคลากรทางการศึกษา
สนองยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมและสร้างความสามัคคี ผดุงเกียรติครูและบุคลากรทางการศึกษา และการดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
มาตรการ
- ดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติครูและบุคลากรทางการศึกษา
- สร้างเสริมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณของวิชาชีพ
- รณรงค์ให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีกิจกรรมเพื่อสังคม และสร้างภาพลักษณ์ที่ดี
กิจกรรม
- จัดให้มีโครงการยกย่องเชิดชูเกียรติครูและบุคลากรทางการศึกษา
- จัดกิจกรรมสร้างเสริมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณของวิชาชีพ
- จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีกิจกรรมเพื่อสังคม และสร้างภาพลักษณ์ที่ดี
พันธกิจ 5 สนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับสวัสดิการครู
สนองยุทธศาสตร์ที่4 ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพ การจัดสวัสดิการ สวัสดิภาพและสิทธิประโยชน์เกื้อกูลอื่น
มาตรการ
- ส่งเสริมการศึกษาวิจัยที่สอดคล้องกับภารกิจขององค์กร เพื่อนำไปพัฒนางานขององค์กร
- สนับสนุนให้มีงานวิจัยด้านการจัดสวัสดิการ สวัสดิภาพ ผดุงเกียรติและสิทธิประโยชน์เกื้อกูลอื่น ทั้งภายในและภายนอกองค์กร
- แสวงหาความร่วมมือในการส่งเสริมงานวิจัยที่สอดคล้องกับภารกิจขององค์กรและเผยแพร่ ผลงานวิจัยแก่สาธารณะ
กิจกรรม
- จัดกิจกรรมให้การสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับสวัสดิการครูและสอดคล้องกับภารกิจขององค์กร
- จัดกิจกรรมสนับสนุนให้มีงานวิจัยด้านการจัดสวัสดิการ สวัสดิภาพ ผดุงเกียรติและสิทธิประโยชน์เกื้อกูลอื่น ทั้งภายในและภายนอกองค์กร
- จัดกิจกรรมเผยแพร่ ผลงานวิจัยแก่สาธารณะ
|
วิสัยทัศน์และแนวคิดในการบริหารและพัฒนา
สำนักงาน สกสค.จังหวัดหนองบัวลำภู
ดร.สุเทพ บุญเติม
ผอ.สกสค.จังหวัดหนองบัวลำภู
วิสัยทัศน์
ในการบริหารและพัฒนาสำนักงาน สก.สค.จังหวัดหนองบัวลำภู ได้วิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องแล้ว มีสภาพและบริบทที่สมควรกำหนดวิสัยทัศน์ ดังนี้ “การบริหารโปร่งใส เสริมสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพการบริการ สานต่องานพัฒนาชีวิตครู เชิดชูและผดุงเกียรติครูและบุคลากรทางการศึกษาต่อเนื่อง สนับสนุนเรื่องวิจัยสวัสดิการ”
แนวคิดในการบริหารและพัฒนา
บทบาทหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการ สก,สค. ตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ประกอบด้วย (1) รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (2) ประสานและดำเนินการเกี่ยวกับกิจการอื่นที่คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษามอบหมาย และ(3) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการดำเนินงานเสนอ ต่อคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการ และสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
สำนักงาน สกสค.จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นหน่วยงานภายใต้การควบคุม กำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. จะต้องปฏิบัติงานสนองตอบภารกิจของหน่วยเหนือ ดังวิสัยทัศน์ข้างต้น ดังต่อไปนี้
- การบริหารโปร่งใส งานการบริหารของสำนักงานส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์และการเงินของผู้รับบริการที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ถ้าบริหารแบบไม่โปร่งใสก็มักจะมีข้อสงสัยเกิดขึ้น ดังนั้น จะต้องขจัดข้อสงสัยต่างๆให้สิ้นไปให้ได้
ถ้าจะว่าไปแล้ว ไม่ว่าองค์กรใดๆ ก็มีความต้องการที่จะให้องค์กรของตนเองมีความโปร่งใส เพราะความโปร่งใสเป็นลักษณะของการแสดงถึงความถูกต้อง ยุติธรรม สามารถตรวจสอบได้ หรือพูดง่าย ๆ นั่นคือ มีความจริงใจต่อกัน เรียกว่า ปากพูดอย่างไร ในใจก็คิดและทำแบบนั้น นี่คือ ความโปร่งใสที่มนุษย์ปุถุชนทั่วๆ ไป มีความต้องการ
ถ้าพูดถึง “ความโปร่งใส” ความหมายของคำๆ นี้ ก็คือ การมองเห็นภาพโดยตลอดปราศจากประเด็นแอบแฝง ซ่อนเร้น มีข้อมูลชัดเจน ละเอียด ประกอบการประสานงาน การร่วมมือร่วมใจและการตัดสินใจ โดยความหมายของคำว่า “ความโปร่งใสในองค์กร” ตามที่ระบุไว้ในวิกิพีเดีย จะเน้นการขจัดอุปสรรค และ/หรือการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน เข้าสู่ข้อมูลข่าวสารขององค์กร กฎหมาย กฎระเบียบ และกระบวนการทำงานโดยสะดวก จากคำจำกัดความดังกล่าว อาจสรุปได้ว่า ความโปร่งใสที่ใช้ในการบริหารงานจะหมายถึง การสร้างความเปิดเผย เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งจากภายในและภายนอกหน่วยงานสามารถเข้าถึงข้อมูลด้วยวิธีการต่าง ๆ มีการสื่อสาร การแสดงความรับผิดชอบ พร้อมกับการตรวจสอบ รวมทั้งมีกระบวนการในการติดตามและประเมินผลที่ได้รับการยอมรับว่าเที่ยงตรงและเชื่อถือได้
ในโลกปัจจุบันจึงได้เน้นและให้ความสำคัญของความโปร่งใสว่า สามารถเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น ช่วยให้หน่วยงานและผู้ปฏิบัติมีความรับผิดชอบและมีการปฏิบัติงานหรือมีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสร้างความเป็นธรรมแก่ประชาชนหรือผู้รับบริการอย่างทั่วถึง มิใช่เฉพาะกลุ่มหรือพวกพ้อง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่สำนักงาน สกสค.จังหวัดหนองบัวลำภูจะต้องมีมาตรการและแนวทางในการสร้างความโปร่งใสให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้ได้รับการยอมรับและเชื่อถือ
- เสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน องค์กรใดๆจะประสบผลสำเร็จตามเป้าประสงค์และพันธกิจได้นั้น บุคลากรในองค์กรคือปัจจัยหลัก ดังนั้น หากบุคลากรขาดขวัญและกำลังใจย่อมเป็นไปได้ยากที่จะทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น หรือไม่อาจส่งผลต่อการบริหารที่โปร่งใสได้ เกี่ยวกับการเกิดขวัญและกำลังใจ Davis (1964 ) ได้กล่าวไว้ว่า ขวัญและกำลังใจที่ดีนั้นจะเกิดจากองค์ประกอบที่สำคัญคือ 1) ลักษณะท่าทางและบทบาทของผู้นำหรือหัวหน้างานมีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันของผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา 2) ความพึงพอใจในหน้าที่การงานที่ปฏิบัติอยู่ เพราะการปฏิบัติงานถ้าได้ทำงานที่ตนพึงพอใจ
ย่อมได้ผลกว่าการปฏิบัติงานที่ตนไม่พึงพอใจ 3) ความพึงพอใจต่อจุดมุ่งหมายหลักและนโยบายการดำเนินงานของสถานศึกษาทั้งของเพื่อนร่วมงานและผู้บริหารตลอดจนการจัดระบบบริหารงานที่มีประสิทธิภาพช่วยให้เกิดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานได้ดียิ่งขึ้น 4) การให้บำเหน็จรางวัล การเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง แก่ผู้ปฏิบัติงานดีย่อมเป็นแรงจูงใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีความขยันขันแข็งในการทำงานมั่นใจและขวัญกำลังใจดี
5) สภาพแวดล้อมของการทำงานควรจะให้ถูกต้องตามลักษณะ มีอากาศถ่ายเท มีแสงสว่างเพียงพอ มีเครื่องมือเครื่องใช้ในการปฏิบัติงานอย่างเพียงพอต่อการทำงาน 6) สุขภาพของผู้ปฏิบัติงานรวมทั้งสภาพร่างกายและสภาพจิตใจมีผลอย่างมากต่อการทำงานเมื่อใดที่ผู้ปฏิบัติงานมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพย่อมไม่สามารถทำงานให้เกิดผลดีได้
จากหลักการดังกล่าว ผู้บริหารหรือหัวหน้าต้องตรวจสอบองค์ประกอบให้ครบถ้วนครอบคลุมในทุกประเด็น โดยทั่วไป ผู้บริหารหรือหัวหน้างานมักจะมองการสร้างขวัญและกำลังใจเพียงด้านเดียวคือ การปูนบำเหน็จ ความดีความชอบหรือการให้รางวัลเท่านั้น อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากรลดลงหรือการทำงานไม่บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์กรได้
3. เพิ่มประสิทธิภาพการบริการ งานบริการถือว่าเป็นงานหลักของสำนักงาน โดยเฉพาะงาน
สวัสดิการและงานสวัสดิภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษา งานบริการต้องคำนึงถึงความรวดเร็ว เรียบร้อย ถูกต้องและผู้รับบริการมีความพึงพอใจ อาจมีรูปแบบที่สามารถนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพหลายรูปแบบ รูปแบบที่น่าสนใจมีรูปแบบในการเพิ่มประสิทธิภาพที่ดีตามแนวคิด Kaizen เป็นเทคนิควิธีอันหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานขององค์กร คำว่า “Kaizen” เป็นศัพท์ภาษาญี่ปุ่น แปลว่า การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากแยกความหมายตามพยางค์แล้วจะแยกได้ 2 คำ คือ “Kai” แปลว่า การเปลี่ยนแปลง (change) และ“Zen” แปลว่า ดี (good)
ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีก็คือการปรับปรุงนั่นเอง ซึ่งโดยหลักการแล้วเป็นการปรับปรุงงานโดยการทำงานให้น้อยลง ไคเซนเป็นเทคนิควิธีในการปรับปรุงงานโดยมุ่งเน้นที่จะลดขั้นตอนในการทำงานลง เพื่อให้ได้ทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่สูงขึ้นและมุ่งปรับปรุงในทุกๆ ด้านขององค์กรเพื่อยกระดับชีวิตการทำงานของผู้ปฏิบัติงานให้สูงขึ้นตลอดเวลา
หลักในการเริ่มต้นแนวคิดไคเซน (Kaizen) ประกอบด้วย 1) ความคิดสร้างสรรค์เป็นประโยชน์มากสำหรับการแก้ไขปัญหา บางครั้งหากว่าเราแก้ไขปัญหาโดยใช้หลักเหตุผลธรรมดาซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาแบบตรงๆ แล้วหนทางแก้ไขอาจจะมีราคาแพงไม่คุ้มค่าและอาจจะไม่ได้ผลก็เป็นได้ 2) ใช้หลัก “เลิก-ลด-เปลี่ยน”
คือ ก) การเลิก หมายถึง การวิเคราะห์ว่าขั้นตอนการทำงานหรือสิ่งที่เป็นอยู่บางอย่างนั้นสามารถที่จะตัดออกไปได้หรือไม่ โดยพิจารณาจากความจำเป็น ข) การลด หมายถึง การพิจารณาว่าในการทำงานนั้นมีกิจกรรมใดบ้างที่ต้องกระทำซ้ำๆ กันไปมา หากว่าเราไม่สามารถยกเลิกกิจกรรมนั้นออกได้ ก็ต้องพยายามลด
จำนวนครั้งในการกระทำ เพื่อจะได้ไม่ต้องทำงานแบบซ้ำๆ กันโดยที่ไม่เกิดประโยชน์อันใด ค) การเปลี่ยน หากว่าเราพิจารณาแล้วว่า ไม่สามารถเลิก และลดกิจกรรมใดได้แล้ว เราก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ โดยการเปลี่ยนวิธีการทำงาน เปลี่ยนวัสดุ เปลี่ยนทิศทาง หรือเปลี่ยนองค์ประกอบ เป็นต้น
- สานต่องานพัฒนาชีวิตครู ปัญหาในการดำเนินชีวิตของครูจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติหน้าที่การสอนของครู โดยเฉพาะปัญหาเรื่องหนี้สินครู สาเหตุแห่งการมีหนี้สินของครูอาจจะมาจากพื้นฐานดั้งเดิมของครูส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ขาดแคลนหรืออาจจะไม่ขาดแคลนแต่ขาดการวางแผนในการดำเนินชีวิต จึงทำให้เกิดหนี้สินพอกพูนจนยากที่จะแก้ไขได้ด้วยตนเอง จากเหตุแห่งหนี้สินของครูดังกล่าวส่งผลต่อคุณภาพในการทำงานและการสอนของครู ความเข้มข้นในการทำงานการสอนลดลง ทำให้คุณภาพนักเรียนลดลงด้วย รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการในอดีตได้กำหนดนโยบายและโครงการพัฒนาชีวิตครูขึ้นเพื่อให้ครูจัดกลุ่มร่วมกันพัฒนาชีวิต มีรายได้เสริมจากการร่วมกลุ่มและช่วยเหลือกันเป็นกลุ่ม ปรับลดปลดหนี้โดยมีกองทุนจากธนาคารออมสินร่วมตกลงแก้ไขปัญหาร่วมกัน ที่ผ่านมามีหลายกลุ่มประสบความสำเร็จและสมาชิกในกลุ่มสามารถปลดหนี้ได้ส่งต่อภารกิจนี้ให้สำนักงาน สกสค.จังหวัดรับผิดชอบ สำนักงาน สกสค.จังหวัดจึงควรดำเนินกิจกรรมให้ต่อเนื่องจริงจัง โดยเฉพาะการดำเนินการตามโครงการของกลุ่มตามข้อตกลง ควรเน้นการดำเนินการตามหลักแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและ
ความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจน
ใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ สำนักงาน สกสค.จังหวัดต้องมีแผนกำกับติดตามและตรวจเยี่ยมอย่างต่อเนือง นอกจากนี้ ควรมีกิจกรรมสนับสนุนให้โล่หรือเกียรติบัตรแก่กลุ่มหรือบุคคลที่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติตนจนสามารถปลดหนี้สินและดำรงชีวิตเป็นแบบอย่างความพอเพียงตามแนวพระราชดำรัสได้
- เชิดชูและผดุงเกียรติครูและบุคลากรทางการศึกษาต่อเนื่อง เป็นภารกิจสำคัญที่สำนักงาน สกสค.จังหวัดจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีกระบวนการตรวจสอบจริงจัง โดยร่วมกับหน่วยงานทางการศึกษาทุกสังกัด การเชิดชูและผดุงเกียรติครูจะต้องเป็นที่รู้จักของสาธารณะ เพราะครูเป็นบุคคลสำคัญที่ทุกคนได้เห็นเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว คนอื่นก็จะยึดถือเป็นแบบอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกศิษย์ของคุณครูที่ได้รับการยกย่อง จะภาคภูมิใจกับคุณครูของตนเอง กระบวนการที่จะปฏิบัติให้เกิดผลของสำนักงาน สกสค.จังหวัด ควรมีขั้นตอน คือ 1) กำหนดหลักเกณฑ์และตัวชี้วัดในการปฏิบัติตนที่ชัดเจน(ตามหลักจรรยาบรรณ/การครองตน/ครองคนและครองงาน) 2) กำหนดองค์คณะในการพิจารณาร่วมกันทั้งภายในและภายนอก 3) มีการติดตามผลต่อเนื่อง 4) ตรวจสอบผลจากตัวนักเรียนและชุมชน 5) สรุปรายงานผลต่อสาธารณะ 6) จัดพิธีมอบโล่หรือเกียรติบัตรร่วมกับพิธีที่สำคัญ
- สนับสนุนเรื่องวิจัยสวัสดิการ การค้นคว้าวิจัยเป็นการค้นหาความจริงที่เป็นระบบและสามารถยืนยันความถูกต้อง สามารถนำไปเป็นข้อมูลในการดำเนินงานหรือแก้ไขปัญหาได้ตรงประเด็นปัญหาและตรงกับแนวทางที่การวิจัยได้ทำนายไว้ได้ นอกจากนี้ อาจจะมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่สามารถนำไปสู่การกำหนดนโยบายในการดำเนินการจัดสวัสดิการและสวัสดิภาพครูอย่างมีคุณภาพได้ การดำเนินงานวิจัยในระดับจังหวัดควรมีงานวิจัยอย่างน้อยปีละ 1 เรื่อง โดยสนับสนุนให้ครูที่มีความรู้ด้านการวิจัยร่วมกันวิจัยเป็นคณะ และสำนักงาน สกสค.จังหวัด ควรจัดหาทุนวิจัยหรือเสนอขอทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ซึ่งในปีที่ผ่านมามีการจัดสรรงบประมาณเป็นทุนวิจัยให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาอยู่แล้วและได้จัดเป็นประจำทุกปี เนื่องจากเป็นพันธกิจหนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.
โดยสรุป แนวคิดในการบริหารและพัฒนาสำนักงาน สกสค.จังหวัดหนองบัวลำภู มี 6 ประเด็นสำคัญตามวิสัยทัศน์ คือ 1) การบริหารโปร่งใส 2) เสริมสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน3) เพิ่มประสิทธิภาพการบริการ 4) สานต่องานพัฒนาชีวิตครู 5) เชิดชูและผดุงเกียรติครูและบุคลากรทางการศึกษาต่อเนื่อง และ 6) สนับสนุนเรื่องวิจัยสวัสดิการและมีเป้าหมายส่งกระทบผลต่อคุณภาพการศึกษาของจังหวัดหนองบัวลำภู
ดังแผนภาพ
วิสัยทัศน์และแนวคิดในการบริหารและพัฒนา
สำนักงาน สก.สค.จังหวัดหนองบัวลำภู
**************************************